วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การจัดประกวดคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ สสส.

โครงการวิจัยและพัฒนาการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ สสส. ขั้นที่ 2

การจัดประกวดคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์

ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

1. ความเป็นมา

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ให้เป็นองค์กรด้านสุขภาพบนแนวคิด
ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาพยาบาล

แม้ สสส. จะผ่านการดำเนินงานมาในระยะเวลาหลายปีแล้วก็ตาม หากแต่ สสส.
เป็นที่รู้จักของประชาชนในวงกว้าง ผ่านผลงานการสนับสนุนโครงการ กิจกรรม
การรณรงค์ต่าง ๆ แต่การสื่อสารดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถทำให้องค์กรเป็นที่รู้จัก
อย่างชัดเจนในตัวตนหรือ “ความเป็น สสส.” ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นคำถามว่า สสส.
คือองค์การประเภทใด มีกระบวนการทำงานอย่างไร เหตุใดองค์การประเภทสสส.จึงเป็นนวัตกรรม
องค์การที่มีความสำคัญและความจำเป็นสำหรับสังคมไทย ซี่งเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้คนทั่วไป
โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ตรงกับ สสส. เกิดการรับรู้ภาพลักษณ์ของ สสส. แตกต่างกันไป
และอาจไม่ตรงกับที่องค์กร สสส. ต้องการสื่อสาร

ดังนั้น เมื่อมีโครงการวิจัยและพัฒนาการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร ในปี 2550
จึงได้ดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ของ สสส. จากประชาชนทั่วไป และค้นหา
ภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์จากสมาชิกภายในองค์กร โดยใช้กระบวนการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม
ซึ่งท้ายที่สุดจึงได้ภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์ 3 ด้าน ดังนี้ 1.1 องค์กรนวัตกรรม
(ด้านวิธีการทำงานและแนวคิดด้านสุขภาพ) 1.2 องค์กรทุนที่มีความโปร่งใส 1.3
องค์กรผู้ทำงานร่วมกับภาคีอย่างกัลยาณมิตร

ภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์ทั้ง 3 ด้านดังกล่าว สะท้อนให้เห็นแนวทางที่องค์กรจะสื่อสาร
“ความเป็นองค์การ สสส.” ไปสู่บุคคลภายนอกได้อย่างชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา
ในมิติของการสื่อสารความเป็นองค์การ สสส. มีเพียงชื่อองค์กร “สสส.”
และสัญลักษณ์ (logo) เท่านั้น ที่เป็นที่รับรู้ในโครงการวิจัยและพัฒนาการประชาสัมพันธ์
ภาพลักษณ์ สสส. ขั้นที่ 2 การจัดประกวดคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์
ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นี้ จึงมุ่งเน้นให้ได้มาซึ่ง
แผนประชาสัมพันธ์ ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนของ คำขวัญที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์
ทั้ง 3 ด้าน ตัวอย่างสื่อประชาสัมพันธ์ประเภทต่าง ๆ และแผนงานการใช้สื่อและการจัดกิจกรรม
ประเภทต่าง ๆ ซึ่ง สสส.จะสามารถนำไปใช้ได้จริงในการสื่อสารภาพลักษณ์ สสส.
ตามคำขวัญดังกล่าวในโอกาสต่าง ๆ

และเพื่อให้คำขวัญและแผนงานประชาสัมพันธ์ของ สสส. ที่จะเกิดขึ้นนี้ เป็นคำขวัญและแผนงาน
ที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นเครือข่ายงานสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญ
ยิ่งทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยและพัฒนาการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์
สสส. ขั้นที่ 2 การจัดประกวดคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ ของสำนักงาน
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างคุณค่า เพิ่มความเข้มแข็ง
ทำให้องค์กรเป็นที่รู้จัก นำไปสู่ความเข้าใจองค์กรอย่างแท้จริงต่อไป

2. วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ได้มาซึ่งคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ของ สสส.
ให้ประชาชนรู้จัก เข้าใจ เกิดความรับรู้ที่ดีต่อ สสส.

2. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในการเสริมสร้าง
ภาพลักษณ์ตามที่องค์กรพึงประสงค์

3. เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร สสส. ในด้านการรับรู้
ของกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่มีต่อองค์กร สสส.


3. กลุ่มเป้าหมาย

นิสิต นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา


4. ระยะเวลาดำเนินงาน

เดือนกรกฎาคม 2552 – มกราคม 2553


5. หน่วยงานรับผิดชอบ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักบริการกลาง สสส. ร่วมกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

6.1 OUTPUT

• มีนักศึกษา ครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รับทราบข่าวสารเกี่ยวกับ
การจัดกิจกรรมการประกวดคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์

• มีทีมนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนไม่ต่ำกว่า 50-70
แผนงานจำนวนคำขวัญไม่น้อยกว่า 150 คำขวัญ และนักศึกษามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงาน
เข้าประกวดประมาณ 250-300 คนจากจำนวนมหาวิทยาลัยที่มีการสอนด้านนิเทศศาสตร์ต่าง ๆ
ทั่วประเทศ

• สสส. ได้คำขวัญ (Slogan) และแผนประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ของ สสส.
ที่ได้รับรางวัล เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆรู้จัก เข้าใจ เกิดความรับรู้
ที่ดีต่อ สสส.


6.2 OUTCOME

• ผลที่ตามมาจากการจัดโครงการนี้นอกจากการได้คำขวัญและแผนงาน ก็คือเกิดความสนใจ
และความเข้าใจเกี่ยวกับตัวองค์การสสส.ในกลุ่มเยาวชนขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา
ในระดับอุดมศึกษาที่ได้รับทราบข่าวสารกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดประกวด และกลุ่มผู้สนใจจะส่งงาน
เข้าประกวดเนื่องจากการคิดสร้างสรรค์ส่งผลงานเข้าประกวดจำเป็นต้องมีการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับ
สสส.เป็นอย่างดี อีกทั้งกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้เมื่อสำเร็จการศึกษาและทำงานด้านนิเทศศาสตร์จะเป็น
เครือข่ายงานด้านสุขภาพที่มีความเข้าใจตัวองค์การสสส.เป็นอย่างดี


7. หลักเกณฑ์การประกวด

1. กติกาทั่วไป

1.1 คุณสมบัติผู้เข้าประกวดเป็นนิสิต นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ประเภททีม ๆ ละ
5 คน สังกัดสถาบันการศึกษาเดียวกัน

1.2 ผู้เข้าประกวดต้องสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง โดยไม่ลอกเลียนแบบ ไม่เคย
ได้รับรางวัล ไม่เคยเผยแพร่ หรือปรากฏในสื่ออื่นใดมาก่อน

1.3 ผู้เข้าประกวดต้องส่งคำขวัญพร้อมแผนงานประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์
ของสสส.ทีมละ1 แผนงานโดยสามารถเสนอคำขวัญที่ใช้ในแผนงานได้ทีมละไม่เกิน 3 คำขวัญ
(ทั้งนี้จะส่งเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้)

1.4 คำขวัญแต่ละคำขวัญต้องมีจำนวนคำไม่เกิน 20 คำ

1.5 แผนงานประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ของ สสส.ที่ส่งเข้าประกวดจะต้องพิมพ์
ลงในกระดาษ A4 พร้อมระบุ ชื่อ-สกุล สถาบันการศึกษา ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้
พร้อมแนบแผ่น CD โดยในตัวเล่มจะต้องระบุถึง


1) ผลการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ที่สำคัญต่อการทำงานด้านภาพลักษณ์องค์กรสสส.

2) วัตถุประสงค์ในการวางแผนประชาสัมพันธ์

3) กลุ่มเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์

4) คำขวัญและสัญลักษณ์ต่างๆที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์

5) กลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรสสส.

6) กลวิธีในการประชาสัมพันธ์ (สื่อ และกิจกรรม ที่จะเลือกใช้) ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

7) ตารางการใช้สื่อ และการจัดกิจกรรม (Media Plan
ระหว่าง 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2553)

8.) ตัวอย่างสื่อประชาสัมพันธ์ที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์ตามคำขวัญของสสส
ซึ่งทีมงานผู้ส่งเข้าประกวดเสนอ (กรณีเป็นสื่อสปอตโทรทัศน์ให้เสนอเป็นสตอรีบอร์ด กรณีเป็นสื่อวิทยุ
ให้เสนอเป็นสคริปแบบสมบูรณ์ สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อเฉพาะกิจอื่น ๆให้เสนอเป็นภาพงาน
อาร์ตเวิร์ค ที่สมบูรณ์)

9) งบประมาณดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนประชาสัมพันธ์ที่เสนอ
(กำหนดวงเงิน 5-8 ล้านบาท)

10) วิธีการประเมินผลแผนประชาสัมพันธ์


1.6 คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้เข้าประกวดไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

1.7 ระยะเวลาในการส่งคำขวัญและแผนงานประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์
ของ สสส. เข้าประกวดคือระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2552

1.8 ส่งคำขวัญและแผนงานประชาสัมพันธ์ประกวดด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์
โดยวงเล็บมุมซองว่า “โครงการวิจัยและพัฒนาการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ สสส.
ขั้นที่ 2 การจัดประกวดคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของ สสส.”
ได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 979
ชั้น 34 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400
ทั้งนี้ หากส่งทางไปรษณีย์จะถือวันที่ประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ

1.9 คณะกรรมการจะคัดเลือกคำขวัญและแผนงานประชาสัมพันธ์ให้เข้ารอบ
สุดท้าย 10 ทีม ทั้ง10ทีมจะต้องมานำเสนอคำขวัญ และแผนงานประชาสัมพันธ์ทีมละไม่เกิน
20 นาทีตามกำหนดวันและสถานที่ซึ่งสสส.จะแจ้งไปยังผู้เข้ารอบโดยตรง

1.10 ประกาศผลการตัดสินการประกวดในวันที่ 24 ธันวาคม 2552
โดยสามารถตรวจสอบผลการตัดสินได้ที่ สสส.และทางเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th

1.11 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2298-0500 ต่อ 1221
และ 3006 และทางเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th


2. เกณฑ์การพิจารณาคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์สสส.

2.1 แผนประชาสัมพันธ์และคำขวัญ ที่ส่งเข้าประกวดต้องเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของ
สสส. โดยครอบคลุมแนวคิด 3 ด้าน ดังนี้

1) องค์กรนวัตกรรม (ด้านวิธีการทำงานและแนวคิดด้านสุขภาพ)

2) องค์กรทุนที่มีความโปร่งใส

3) องค์กรผู้ทำงานร่วมกับภาคีอย่างกัลยาณมิตร

2.2 ต้องมีชื่อองค์กร สสส. ปรากฏในคำขวัญ ตลอดจนตัวอย่างสื่อต่าง ๆที่นำเสนอใน
แผนประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์สสส.จะต้องปรากฏชื่อองค์กร คำขวัญและสัญลักษณ์ของ
องค์กร ทุกชิ้นงาน

2.3 ต้องใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ชัดเจน เหมาะสม และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

2.4 แผนงานประชาสัมพันธ์และตัวอย่างสื่อประชาสัมพันธ์ที่นำเสนอต้องมีความเป็น
ไปได้ในการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง


8. รางวัลการประกวดคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ของ สสส.


รางวัลสำหรับทีมผู้ส่งผลงานเข้าประกวด

1) รางวัลชนะเลิศแผนประชาสัมพันธ์ 1 รางวัล
ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

2) รางวัลรองชนะเลิศแผนประชาสัมพันธ์ 1รางวัล

ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

3) รางวัลชนะเลิศคำขวัญ1 รางวัล

ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

* เงินรางวัลที่ได้รับจากการประกวดจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 5 ของเงินรางวัล


รางวัลสำหรับสถาบันของทีมผู้เข้าประกวด

1) โล่รางวัลชนะเลิศแผนงานประชาสัมพันธ์

2) โล่รางวัลรองชนะเลิศแผนงานประชาสัมพันธ์

3) โล่รางวัลชนะเลิศคำขวัญ


9. กรรมสิทธิ์ในผลงาน

คำขวัญ แผนประชาสัมพันธ์และตัวอย่างสื่อประชาสัมพันธ์ทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวด สสส.
ขอสงวนสิทธิ์ และเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ในการนำไปใช้งาน รวมทั้งสิทธิ์ที่จะใช้ผลิตสื่อ
และการจัดกิจกรรมตามแผนประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสิทธิ์
ในการปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน ของสสส.

ที่มา สสส.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น